ศิษย์เก่าสัมพันธ์ กองกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
รองศาสตราจารย์ ดร.วราภรณ์ ชัยวัฒน์ เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในสาขาการพยาบาลเด็ก โดยเป็นที่ประจักษ์จากผลงานทางวิชาการและงานวิจัยจำนวนมาก ท่านได้พัฒนาเครื่องมือวิจัยและเครื่องมือประเมินที่จำเป็นต่อการส่งเสริมสุขภาพเด็กจำนวนมาก เช่น Thai State-Trait Anxiety Inventory for Children-Revised, Thai Child Medical Fear Scale, Thai Developmental Screening Tool for Infants and Toddlers (TDST), Thai Modified Checklist for Autism in Toddlers (TM-CHAT), Parental Feeding Behaviors (Indonesian) เป็นต้น สำหรับการส่งเสริมสุขภาพวัยรุ่น ท่านได้ร่วมศึกษากระบวนการเลี้ยงดูวัยรุ่นที่มีสุขภาพดีในบริบทสังคมไทย และนำสู่งานวิจัยที่เน้นการส่งเสริมสุขภาพวัยรุ่นด้านต่างๆ เช่น การจัดการความเครียด การละเว้นการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร เป็นต้น นอกจากนี้ท่านยังได้สร้างวิจัยเพื่อพัฒนาสุขภาพประชาชนไทยในอีกหลากหลายด้าน งานที่สำคัญชิ้นหนึ่งคือ งานวิจัยเกี่ยวกับการปฏิบัติอย่างอิสระของพยาบาล (Independent practice of professional nurse) โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ในปี พ.ศ. 2544 ซึ่งทำให้ในระยะต่อมามีการศึกษาวิจัยและผลักดันให้เกิดการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับ Entrepreneurship ของพยาบาลเป็นอย่างมาก ตลอดระยะเวลาการเป็นอาจารย์ประจำคณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.ดร.วราภรณ์สอนและเป็นกรรมการบริหารหลักสูตรปริญญาโทและปริญญาเอก โดยเป็นกรรมการบริหารหลักสูตรพยาบาลศาสตรดุษฎีบัณฑิต ตั้งแต่พ.ศ. 2545 ถึง พ.ศ. 2564 ท่านเป็นผู้ที่ทุ่มเทให้กับการเรียนการสอน มุ่งพัฒนานักศึกษาทั้งในด้านความรู้ ความสามารถทางการพยาบาลและการดำรงชีวิต บุกเบิกพานักศึกษาพยาบาลออกให้บริการสุขภาพทั้งในสถานบริการสุขภาพ ชุมชน รวมถึงแหล่งชุมชนด้อยโอกาส ในระยะหลังยังเป็นผู้นำในการเผยแพร่ความรู้ด้านการดูแลสุขภาพผ่านสื่อออนไลน์รูปแบบต่างๆด้วย ท่านได้รับรางวัล อาจารย์ดีเด่นด้านการเรียนการสอน คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2552 และรางวัลนิสิตเก่าดีเด่น สาขาการศึกษาพยาบาล ประเภทอาจารย์พยาบาล จากสมาคมนิสิตเก่า พยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากการสอนแล้ว ท่านยังได้นำความรู้ทางสาขาการพยาบาลเด็กไปใช้ในการบริการสังคมอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นกรรมการฝ่ายวิชาการ และเป็นวิทยากรประจำมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม ในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ เป็นอนุกรรมการบ้านเด็กจุฬาฯ ฯลฯ แม้ในระยะหลังด้วยภารกิจรอบด้าน ท่านจะไม่สามารถทำหน้าที่เป็นกรรมการในลักษณะข้างต้นได้ แต่ก็ยังให้ความร่วมมือกับองค์กรเหล่านี้เสมอทุกครั้งที่มีโอกาส ด้านการพัฒนาวิชาชีพ ท่านเป็นผู้ที่เห็นความสำคัญของการพัฒนาวิชาชีพพยาบาล จึงทำหน้าที่ในฐานะอนุกรรมการและกรรมการชุดต่างๆ ในสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย สภาการพยาบาล และสมาคมพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เมื่อวิชาชีพพยาบาลพัฒนาสู่ advanced nursing practice
รศ.ดร.วราภรณ์ได้ทำหน้าที่เป็นกรรมการและเลขานุการยกร่างข้อบังคับสภาการพยาบาล ว่าด้วยหลักเกณฑ์การออกหนังสืออนุมัติหรือวุฒิบัตรเกี่ยวกับความรู้ความชำนาญเฉพาะทางการพยาบาลและการผดุงครรภ์พยาบาล และต่อมาได้อยู่ในคณะผู้บริหารวิทยาลัยพยาบาลและผดุงครรภ์ขั้นสูงแห่งประเทศไทยในการดำเนินการจัดสอบความรู้เพื่อให้พยาบาลวิชาชีพที่สำเร็จปริญญาโททางการพยาบาลสามารถพัฒนาไปเป็นพยาบาลวิชาชีพเชี่ยวชาญเฉพาะสาขา (Advanced Practice Nurse : APN) ด้านการบริหาร ท่านเคยดำรงตำแหน่งทางด้านการบริหารของคณะพยาบาลศาสตร์ ตั้งแต่ปี 2544 โดยมีโอกาสในการรับผิดชอบงานที่หลากหลายทั้งด้านบริหาร ด้านแผนและการคลัง ด้านวิชาการ วิจัย วิเทศ และกิจการนิสิต ตลอดระยะเวลาการทำงาน ท่านได้มีโอกาสทำงานที่ท้าทายด้านต่างๆ มากมาย เช่น ได้ร่วมผลักดันและพัฒนาหลักสูตรพยาบาลมหาบัณฑิต Flexible learning หลักสูตรแรกของประเทศไทย ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ต้องมีการพัฒนาบทเรียนในลักษณะหนังสือ เทปโทรทัศน์ และการเรียนการสอนในห้องเรียนทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ท่านก็ได้เดินทางโดยรถไฟตู้นอนเพื่อไปพบกับนักศึกษาตลอดระยะเวลาที่มีการสอนในหลักสูตรนี้ เพื่อให้พยาบาลที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศไทยได้มีโอกาสเรียนรู้ พัฒนาตนเองให้สามารถดูแลสุขภาพของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในช่วงที่ประเทศไทยประสบภัยสึนามิในปีพ.ศ. 2547 ทันทีที่ทราบข่าว แม้สึนามิยังไม่สงบ ท่านร่วมเดินทางกับรศ.ดร.จินตนา ยูนิพันธุ์ นายกสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย ณ เวลานั้น เพื่อไปดูแลพยาบาลและประชาชนที่ประสบภัยสึนามิ ทำให้ได้ข้อมูลต่างๆมาร่วมวางแผนในการดูแลฟื้นฟูสุขภาพประชาชนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และนำสู่การจัดการศึกษาพยาบาลภาคปฏิบัติในศูนย์พักพิงในจังหวัดภาคใต้โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ และในปีพ.ศ. 2554 เมื่อประเทศไทยประสบมหาอุทกภัย ท่านได้เป็นกำลังหลักของคณะพยาบาลศาสตร์ ในการจัดตั้งหน่วยบริการสุขภาพประชาชนที่อพยพลี้ภัยน้ำท่วม มาอยู่ในศูนย์พักพิงของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยท่านต้องเดินทางฝ่าน้ำท่วมมาที่ศูนย์พักพิงด้วยตนเองทุกวันเนื่องจากบุคลากรสุขภาพมีจำกัด ท่านได้นำความรู้ที่ได้จากการบริหารจัดการกำลังคน และทรัพยากรต่างๆ ในช่วงดังกล่าวมาจัดทำเป็นบทเรียนให้กับนักศึกษาอีกเช่นกัน จากประสบการณ์การทำงานบริหารที่หลากหลายรอบด้าน รศ.ดร.วราภรณ์จึงได้รับการสรรหาให้ดำรงตำแหน่ง คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2560 – 2564 ท่านเป็นผู้บริหาร ที่มีวิสัยทัศน์และนำพาคณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันทางการศึกษาทางการพยาบาลชั้นนำระดับประเทศ ในระหว่างการดำรงตำแหน่งคณบดี ได้มีการระบาดของ Covid-19 มหาวิทยาลัยได้จัดตั้งศูนย์บริการวัคซีน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเป็นต้นแบบให้กับสังคม เนื่องจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่มีโรงพยาบาลในสังกัด การดำเนินงานในส่วนพยาบาลของศูนย์บริการวัคซีน อาคารจามจุรีสแควร์ คณะพยาบาลศาสตร์จึงเป็นแกนหลัก รศ.ดร.วราภรณ์ได้ใช้ความรู้ และประสบการณ์ ในฐานะพยาบาลและผู้บริหารองค์กร ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆของมหาวิทยาลัย และหน่วยงานภายนอก และอาสาสมัคร ในการบริหารจัดการกำลังคน ทรัพยากร รวมถึงระบบการทำงานต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย การที่ท่านนำอาจารย์ และนักศึกษาระดับปริญญาโทและเอก มาร่วมให้บริการแก่ประชาชนทุกวัน ตั้งแต่ 8.00-20.00 น และการให้บริการออนไลน์ต่างๆ ทำให้เกิดนักศึกษาและอาจารย์มีมุมมองในการสร้างงานวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพบริการพยาบาลต่อไปอีกมาก รศ.ดร.วราภรณ์ในฐานะคณบดีได้นำคณะให้ปรับปรุงระบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นทั้งในลักษณะ Multifunction, Shared Service, E-document และการทำงานออนไลน์เต็มรูปแบบ ด้านวิชาการส่งเสริมให้เกิด Joint Research Seminar กับมหาวิทยาลัยนานาชาติ การแลกเปลี่ยนนักศึกษากับมหาวิทยาลัยต่างชาติทั้งในลักษณะ onsite และ online นอกจากนี้ยังผลักดันให้คณะฯ ร่วมพัฒนาต้นแบบการศึกษาร่วมกันระหว่างสหสาขาวิชาชีพทางการแพทย์ (Interprofessional education) ที่เป็นการเรียนรู้ผ่านสถานการณ์จําลองเสมือนจริงออนไลน์ (Virtual simulation) และผลักดันให้เกิดหลักสูตรทางการพยาบาลใหม่ซึ่งเป็นหลักสูตร Double degree ในระดับบัณฑิตศึกษากับ Kobe University, ประเทศญี่ปุ่น
ติดต่อสอบถาม