หัวหน้าศูนย์วิจัยประยุกต์และพัฒนานวัตกรรมกุ้ง นักวิจัย ระดับ 2
ผลงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมในกุ้ง
1. โมโนโคลนอลแอนติบอดีสำหรับกระตุ้นการวางไข่ในแม่พันธุ์กุ้ง โดยไม่ตัดตา
สารโมโนโคลนอลแอนติบอดีต่อฮอร์โมนยับยั้งการพัฒนารังไข่หรือฮอร์โมนจีไอเฮช จะไปยับยั้งฮอร์โมนยับยั้งการพัฒนารังไข่อย่างจำเพาะ จึงสามารถกระตุ้นการพัฒนารังไข่และการวางไข่ในแม่พันธุ์กุ้งกุลาดำและแม่พันธุ์กุ้งขาวได้โดยไม่ตัดตา แม่พันธุ์กุ้งจึงมีสุขภาพที่แข็งแรง ให้ลูกกุ้งที่มีคุณภาพ และมีผลผลิตที่เทียบเคียงหรือมากกว่ากับวิธีการตัดตา นอกจากนี้ยังสามารถนำแม่พันธุ์กุ้งมากระตุ้นการวางไข่ซ้ำได้อีก ซึ่งจะช่วยลดการใช้แม่พันธุ์กุ้ง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลูกกุ้งลดลง และเป็นการผลิตลูกกุ้งโดยคำนึงถึงชีวจริยธรรม ซึ่งต่างจากวิธีการตัดตาซึ่งเป็นวิธีที่ทารุณและอาจถูกหยิบยกมาเพื่อใช้กีดกันทางการค้าในอนาคต
2. แม่กุ้งก้ามกรามแปลงเพศ
แม่กุ้งก้ามกรามแปลงเพศ MU1 เป็นกุ้งก้ามกรามเพศผู้มีเพศสภาพภายนอกเป็นเพศเมียที่ผ่านกรรมวิธีผลิตกุ้งก้ามกรามแปลงเพศด้วยสารประกอบชีวโมกุลสำหรับกระตุ้นการแปลงเพศในกุ้งก้ามกรามโดยไม่ต้องผ่าตัดเพื่อทำลายต่อมแอนโดรเจนิค ซึ่งเมื่อนำไปผสมพันธุ์กับกุ้งก้ามกรามเพศผู้จะให้ผลผลิตลูกกุ้งก้ามกรามเพศผู้ที่มีขนาดตัวใหญ่ โตเร็วและราคาสูงกว่ากุ้งก้ามกรามเพศเมีย และเมื่อเกษตรกรนำกุ้งก้ามกรามเพศผู้ที่ได้จากแม่กุ้งแปลงเพศ MU1 ไปเลี้ยงในบ่อดิน พบว่าโตเร็วกว่ากุ้งก้ามกรามเพศผู้ทั่วไปประมาณ 20 วัน ส่งผลให้ใช้ปริมาณอาหารที่เลี้ยงกุ้งน้อยลง และลดต้นทุนการผลิตได้ กุ้งก้ามกราม MU1 มีคุณสมบัติเด่น คือ เป็นกุ้งปลอดโรค สุขภาพดี โตเร็ว มีขนาดตัวใหญ่ที่ตรงความต้องการของตลาด ได้ราคาสูง ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรและระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย และเพิ่มโอกาสการส่งออกกุ้งก้ามกราม ซึ่งส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมกุ้งก้ามกรามไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดโลก
ประวัติการศึกษา
ปีที่จบระดับปริญญาสาขาวิชาสถาบันการศึกษาประเทศ
- 2542 | ตรี | วท.บ. (จุลชีววิทยา) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไทย
- 2544 | โท | วท.ม. (อณูพันธุศาสตร์และพันธุวิศวกรรมศาสตร์) มหาวิทยาลัยมหิดลไทย
- 2551 | เอก | ปร.ด. (อณูพันธุศาสตร์และพันธุวิศวกรรมศาสตร์) มหาวิทยาลัยมหิดลไทย
เกียรติประวัติ/รางวัลที่เคยได้รับ
1. รางวัลเผยแพร่ผลงานวิทยานิพนธ์ ระดับปริญญาเอก บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี 2551
2. รางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่น ระดับปริญญาเอก บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี 2552
3. รางวัลทะกุจิ ประเภทวิทยานิพนธ์ดีเด่น ระดับปริญญาเอก ประจำปี 2554
4. จากสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพแห่งประเทศไทย (Biotechnology Association of Thailand)
5. รางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ: รางวัลวิทยานิพนธ์ ระดับดี ประจำปี 2554 (สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา)
6. รางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ: รางวัลผลงานวิจัย ระดับดีเยี่ยม ประจำปี 2557 (สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา)
7. รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล: สาขาการวิจัย ประจำปีการศึกษา 2558
8. รางวัลศิษย์เก่าดีเด่น สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล ประเภทวิชาการ/วิจัย ประจำปี 2558
9. รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล: สาขาการประดิษฐ์และนวัตกรรม ประจำปีการศึกษา 2561
10 .รางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ: รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับดี ประจำปี 2563 (สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา)
หลังจบการศึกษาปริญญาโทหลักสูตรอณูพันธุศาสตร์และพันธุวิศวกรรมศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยมหิดลและเข้าศึกษาหลักสูตรดุษฎีบัณฑิตหลักสูตรอณูพันธุศาสตร์และพันธุวิศวกรรมศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยมหิดล มีความตั้งใจที่อยากจะทำงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง บรรยากาศในการทำวิจัยและประสบการณ์งานวิจัยที่ได้จากตอนเรียน ปริญญาโทและเอก จากมหาวิทยาลัยมหิดล ช่วยให้มีมุมมองการวิจัยและมีการวางแผนโจทย์วิจัยที่เป็นความต้องการของอุตสาหกรรมกุ้งจริง รวมถึงการวางขั้นตอนการทำงานวิจัยเพื่อให้สามารถยื่นขอรับทรัพย์สินทางปัญญาได้ ซึ่งเป็นขั้นต้นในการนำงานวิจัยไปต่อยอดเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้จริง
ในระยะเวลา 13 ปี ของการเป็นนักวิจัยที่เน้นทำงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรม จึงมีผลงานวิจัยที่มีการนำไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมกุ้ง จำนวน 2 เรื่อง ได้แก่ โมโนโคลนอลแอนติบอดีสำหรับกระตุ้นการวางไข่ในแม่พันธุ์กุ้ง โดยไม่ตัดตา และแม่กุ้งก้ามกรามแปลงเพศ MU1 ซึ่งสามารถลดต้นทุนการผลิตกุ้ง เพิ่มรายได้ให้เกษตรกรและระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย และเพิ่มโอกาสการส่งออกกุ้ง ซึ่งส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมกุ้งไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดโลก